บริจาคเลือด

1351 Words
วันนี้มีจัดกิจกรรมวันเทคนิคการแพทย์ไทย ที่โรงพยาบาลเลยรณรงค์ให้มาบริจาคเลือด จู่ๆ ฉันก็ถูกเรียกออกมาช่วยเจาะเลือดรับบริจาคซะงั้น “ขอโทษนะลัล พอดีน้องคนนี้เขาเป็นลม พี่ติ๋มก็คอยดูเครื่องบริจาคเกล็ดเลือด ส่วนพี่ตั้มก็แยกเลือดอยู่ข้างใน ขอแรงหน่อยนะจ๊ะ” พี่แป๋ว มือฉมังแห่งการเจาะ เส้นเล็กแค่ไหนก็สามารถแทงเข็มขนาดเท่าหลอดยาคูลท์เข้าไปได้เสมอ (***เป็นการเจาะเลือดจากผู้บริจาคนำมาผ่านเครื่องปั่นแยกส่วนที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เรียกว่าBlood cell separator เลือดจากผู้บริจาคจะผ่านเครื่องปั่นแยกเฉพาะเกล็ดเลือดออกมาใส่ในอีกถุงส่วนอื่นๆ ได้แก่เม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาวและพลาสมาจะคืนให้แก่ผู้บริจาคโดยผ่านหลอดเลือดเดิมในการบริจาคเกล็ดเลือดจากผู้บริจาคเพียงคนเดียว (Single donor platelet) จะได้เกล็ดเลือดเท่ากับผู้บริจาคทั่วไป 8 คนใช้เวลาในการบริจาคประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง คุณสมบัติผู้บริจาคเกล็ดเลือดและการเตรียมตัวก่อนการบริจาค : ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตต้องมีอายุ 17-50 ปี น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไปและควรเป็นผู้ที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอ โดยที่หมู่โลหิตของผู้บริจาคจะต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต ,มีเส้นโลหิตตรงข้อพับแขนชัดเจน,ไม่รับประทานยาแก้ปวดแอสไพรินในระยะเวลา 5 วันก่อนบริจาค รวมถึงมีจำนวนเกล็ดโลหิต 2 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลิลิตร (ก่อนบริจาคจะขอเจาะโลหิตเพื่อตรวจนับจำนวนเกล็ดโลหิตก่อน) อย่างไรก็ตามเมื่อบริจาคเกล็ดโลหิต เนื่องจากการทำ apheresis มักนิยมใช้สาร citrate เป็นตัวป้องกันการแข็งตัวของเลือดจึงไปจับกับแคลเซียมในกระแสเลือดเป็นสาเหตุทำให้ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตนั้นจะมี ionized calcium ในซีรั่มต่ำลงโดยจะพบว่ามีอาการสั่นปากชา ดังนั้นก่อนบริจาคเกล็ดเลือด เจ้าหน้าที่จะให้ผู้บริจาคเกล็ดเลือดรับประทาน จำนวน 2 เม็ด (Calcium carbonate 1200 mg) เพื่อลด Citrate Reaction ที่เกิดขึ้น สามารถกลับมาบริจาคได้อีกครั้งในทุก1เดือน โดยที่ปกติการบริจาคโลหิตทั่วไปทำได้ในทุก3 เดือน/ครั้ง ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะไม่อ่อนเพลียสามารถปฏิบัติภารกิจการงานได้ตามปกติ หลังจากบริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้ว 1 เดือนสามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติยกเว้นในกรณีจำเป็นอาจให้บริจาคได้ทุก 3-5 วันแต่ไม่เกิน 24 ครั้ง/ปีและค่าเกล็ดโลหิตก่อนบริจาคไม่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด อ้างอิงจาก งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ) แต่แล้วก็ได้มีชายหนุ่มที่สวมกาวน์สั้นปักชื่อและแผนกว่าเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลนี้ เดินเข้ามาสองคน พี่แป๋วเห็นเข้าก็เอ่ยทัก “อ้าว หมอดอว์น หมอแซม มาบริจาคเลือดเหมือนกันเหรอคะ” หมอหนุ่มสองคนยกมือไหว้คนแก่กว่ายิ้มๆ “ครับ พอดีเห็นว่าเช้านี้แซมมันไม่มีเข้าเคส ผมเองก็ว่าง เลยว่าจะมาบริจาคเลือดสักหน่อย” หมอดอว์นพูดยิ้มๆ ส่วนอีกคนเหรอ ยืนมองหน้าฉันอยู่นั่นแหละ แล้วยิ้มนั่นคืออะไร ถ้าอยู่ในนิยายก็คือตัวร้าย ยิ่งเห็นชัดเมื่อยืนข้างหมอดอว์น ซาตานกับเทพบุตร ไม่รู้ไปสนิทกันได้ไง ระหว่างนั้นทั้งสองคนก็หยิบกระดาษคัดกรองไปกรอกก่อนตรวจความเข้มข้นของเลือด ฉันหลบตาแล้วเดินไปล้างมือเปลี่ยนถุงมือมาที่จุดคัดกรองผู้บริจาค และทันทีที่ฉันนั่งลง หมอแซมก็เดินมานั่งเก้าอี้ตรงข้ามด้วยรอยยิ้มมุมปาก พี่แป๋วเห็นแบบนั้นเลยพูดขึ้น “งั้นลัลเจาะหมอแซม เดี๋ยวพี่เสร็จตรงนี้แล้วจะไปเจาะหมอดอว์นให้ พี่ใกล้ละ” ฉันจะทำไงได้ล่ะ “ค่า” รับคำเสียงเบา มือใหญ่วางลงบนโต๊ะ “พี่ล้างมือแล้ว จับได้ตามสบายครับแอล อ๊ะ ลัลลา” คำหลังพูดเบาๆ ให้ได้ยินสองคน ฉันเม้มปาก ใจจริงอยากจะแทงแรงๆ แต่เข็มคัดกรองเปลี่ยนเป็นแบบปากกาหมดแล้วนะสิ ถ้าเป็น Lancet แบบสมัยเรียนละก็ จะง้างให้สุดแขนเลย คนนิสัยไม่ดี!!! ฉันหยิบกระดาษมาดู ขัดใจที่ปกติทุกอย่าง ไม่อยากอยู่ใกล้เลยจริงๆ “เมื่อคืนนอนกี่โมงคะ” “ตีหนึ่งครับ” ฉันยิ้ม “ไม่ผ่านค่ะ ไว้มาครั้งหน้านะคะ” “หืม? ทำไม” “ปกติเกินเที่ยงคืนแล้วร่างกายจะอ่อนเพลีย เสี่ยงต่อการเป็นลม หมอก็รู้นี่คะ” ฉันตอบเรียบๆ คืออันที่จริงก็ไม่ได้ใช้เกณฑ์นี้เป็นสากลหรอก แต่การรับบริจาคเองก็มีเกณฑ์ในแต่ละโรงพยาบาลที่ เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ปัญหาเดิมหรือมีวิธีในการเลี่ยงผู้มาบริจาคบางกลุ่ม ไม่พูดนะกลัวทัวร์ลง ฮา “ถ้างั้นตรวจบิ้น (Hemoglobin) พี่ก่อน ถ้าผ่านก็บริจาคได้” ฉันกำลังจะอ้าปากค้าน แล้วพี่แป๋วก็พูดอีก “ตรวจเถอะลัล หมอเขาแข็งแรง ดูสิกล้ามน่ากัดเชียว คิก” หึ “มีโรคอะไรบ้างก็ไม่รู้ เห็นว่าเจ้าชู้นี่นา” ฉันพูดเบาๆ แน่นอนว่ามีเขาคนเดียวที่ได้ยิน ...หึๆ เด็กนี่มันเด็กจริงๆ หมอแซมอดคิดไม่ได้ว่าแก้มป่องนั่นโคตรน่ายืด “พี่ป้องกันตลอดครับ ปลอดภัย” หรี่ตาลงนิดๆ เมื่อประกอบกับยิ้มมุมปากมันทำให้เขาดูเป็นตัวร้ายมากๆ “สนใจพี่ขนาดนั้นเลยสินะ” “ข่าวคาวๆ มันแพร่เร็วต่างหากค่ะ” ฉันทำใจแล้วจับมือใหญ่มานวดให้เลือดไหลเวียนดี คลึงปลายนิ้วแรงเกินความจำเป็นด้วย แต่เขาก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะเจ็บ แถมรอยยิ้มเจ้าเล่ห์ที่แต้มมุมปากก็ไม่ได้หายไป ฉันจับนิ้วให้อยู่ในองศาที่เหมาะสม เช็ดแอลกอฮอล์ไม่ให้ชุ่มมากเดี๋ยวจะแห้งช้า หยิบเข็มปากกามาบิดถอดปลอกออกอย่างชำนาญ แนบแล้วกดเข็มลงในแนวที่ขวางกับลายนิ้วมือ เพื่อให้แผลกว้างเลือดจะออกได้ออกพอดีกับปริมาณที่ต้องการตรวจโดยไม่ต้องเจาะซ้ำ แป้ก!! เลือดสีเข้มค่อยๆ ซึมออกมาเป็นหยด ฉันเอา cuvette รองเลือดจนเต็มช่อง เอาเข้าเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของเลือด แล้วบีบนิ้วนั้นอีกครั้ง filled (เติม) เลือดใน capillary (หลอดเล็กๆ ที่ใช้บรรจุเลือดในการตรวจหลายๆ ชนิด เช่น ฮีมาโตคริต ตรวจหมู่เลือด เป็นต้น) แล้วหยดเลือดบนสไลด์แก้วสองหยดให้ห่างกัน (ระดับฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เป็นการตรวจความเข้มข้นของระดับฮีโมโกลบินในเลือด เนื่องจากสารฮีโมโกบินอยู่ในเม็ดเลือดแดง, ปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (hematocrit) เป็นการตรวจปริมาตรของเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือด) หยดน้ำยาตรวจหมู่เลือดสองชนิด หนึ่งชนิดต่อเลือดหนึ่งหยด แล้วใช้ไม้พายเล็กๆ เกลี่ยให้เข้ากัน เอียงสไลด์ไปมา ก็ได้ทราบหมู่เลือด “หมอ AB นะคะ” เขายิ้ม และยิ้มกว้างขึ้นเมื่อเห็นตัวเลขบนเครื่องตรวจความเข้มข้นของเลือด “บิ้นพี่เท่าไรครับ” รู้แล้วจะถามทำไมนะ เบะปากนิดหน่อย “ 15.2 g/dl” “งั้นพี่ก็บริจาคได้แล้วเนอะ” เสียงกลั้วหัวเราะ (เกณฑ์ฮีโมโกลบินที่กำหนดในการรับบริจาคเลือด หญิง 12.5-16.5 g/dl ชาย 13.0-18.5 g/dl อ้างอิงจาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาติไทย) ฉันพยักหน้าเบาๆ เดินไปเดินหลอดเก็บตัวอย่างเลือดกับถุงบริจาค แปะคิวกับหมู่เลือดไว้ ที่ถุงและกระดาษกรอกประวัติ ฉันพาเขาเดินมาที่เตียงบริจาค เขาขึ้นไปนั่งบนนั้น ฉันปรับเก้าอี้เอนให้เขาสบายๆ ห่มผ้าให้เหมือนทุกคน ยิ้มทำไม ไม่ว่ากับผู้บริจาคคนไหนก็ต้องทำแบบนี้ทั้งนั้น
Free reading for new users
Scan code to download app
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    Writer
  • chap_listContents
  • likeADD